
พลอยเขียวส่อง(Green Sapphire) “อัญมณีแห่งสันติสุข”
พลอยเขียวส่อง(Green Sapphire) เป็นชนิดอัญมณีที่อยู่ในตระกูลแร่คอรันดัม ซึ่งเป็นแร่ตระกูลเดียวกันกับทับทิม พลอยชมพู ไพลิน บุษราคัม ซึ่งแต่ละชื่อจะมีสีที่แตกต่างกัน โดยสีเขียวเป็นผลมาจากประจุที่ให้สีของธาตุที่อยู่ในผลึก เช่น ธาตุเหล็ก (แต่ในบางแหล่งข้อมูล พูดถึงการให้สีเขียวเป็นผลมาจากธาตุวานาเดียม(อ้างอิงข้อมูลจาก: www.geology.com)) ช่วงสีของพลอยเขียวส่องจะเป็นโทนสีที่อยู่ในช่วง สีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม บางครั้งสีเหลืองแกมเขียวหรือสีฟ้าสีเขียว บางครั้งสีก็เป็นผลมาจากแถบสีเหลืองและสีน้ำเงินในเนื้อ ซึ่งทำให้อัญมณีนั้นดูเป็นสีเขียวต่อดวงตา แม้ว่าสีเขียวจะเป็นสีที่หายากสำหรับตระกูลคอรันดัม แต่ก็เพิ่งเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และมีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับพลอยชนิดอื่น ๆ
ชื่อของอัญมณีในภาษาอังกฤษ(Corrundum)คอรันดัม กลุ่มนี้ นอกจากทับทิม(Ruby) ไพลิน(Sapphire) ที่มีชื่อเรียกต่างหากแล้ว พลอยสีอื่นๆ นอกจากนี้ มักถูกเรียกในชื่อว่า “แฟนซีซัฟฟราย(Fancy Sapphire)”
ในส่วนของชื่อไทย จะใช้คำว่า “เขียวส่อง” หรือ “เขียวบางกะจะ” ซึ่งก็คือ พลอยสีเขียวจากบางกะจะ จันทบุรี นั่นเอง แต่วงการพลอยเมืองจันทบุรี จะเรียกว่า “มรกตจันท์” เพื่อให้ทราบว่าเป็นพลอยเขียวส่องจากแหล่งที่จันทบุรี
ศรีลังกา อินเดีย พม่า ไทยและออสเตรเลียเป็นแหล่งของพลอยสีเขียวที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยมีปริมาณเล็กน้อยในหลายๆ ประเทศ ในสหรัฐอเมริกามีที่รัฐมอนทาน่า เป็นแหล่งของพลอยสีต่างๆ มานานกว่า 100 ปี ในปี ค.ศ. 1960 รัฐมอนทาน่าจึงได้สถาปนาให้พลอยในตระกูลคอรันดัมเป็น “อัญมณีแห่งรัฐ” อย่างเป็นทางการ โดยการสถาปนาดังกล่าว ทำให้มีผู้ที่สนใจพลอยสีทุกสี มาท่องเที่ยวและอุปถัมภ์ชาวเมืองเลยทีเดียว
ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาแอฟริกาได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดพลอยเขียวส่องที่สำคัญ ปริมาณสำรองส่วนใหญ่อยู่ในแทนซาเนีย เคนยา มาดากัสการ์ เอธิโอเปีย ไนจีเรียและประเทศอื่นๆ
คุณสมบัติทางกายภาพของพลอยเขียวส่อง
สูตรเคมี (Chemical composition) อะลูมิเนียม ออกไซต์ (Al2 O3)
ค่าดัชนีหักเห (RI) ประมาณ 1.76-1.77
ความวาว (Luster) วาวแบบแก้ว (Vitreous)
ระบบผลึก(Crystal system) ระบบสามแกนราบ (Trigonal)
ความแข็งของโมห์ (Moh’s scale Hardness) 9
ความถ่วงจำเพาะ (SG) 3.80-4.05
มรกตจันท์หรือเขียวส่องบางกะจะ จันทบุรี
อัญมณีที่ส่องประกายแสงสีเขียวมีเสน่ห์ชวนให้หลงใหลนั้นจะเป็นอื่นไม่ได้นอกเสียจาก “Green sapphire” ที่มีชื่อเสียงแห่งบางกะจะ คนท้องถิ่นจันทบุรีเรียกพลอยนี้ว่า “เขียวส่อง” และอีกชื่อเรียกว่า “มรกตเมืองจันท์” ซึ่งไปพ้องกับชาวตะวันตกที่มักเรียกพลอยชนิดนี้ว่า “Oriental Emerald “แปลว่ามรกตแห่งตะวันออก ชื่อทางอัญมณีศาสตร์เป็นมาตรฐานว่า “Green Sapphire” กรีนแซปไฟร์ เป็นแร่ตระกูล Corundum ที่มีความแข็งเป็นอันดับสองรองจากเพชร (ระดับ 9 ตามโมห์สเกล) พลอยเนื้อแข็งในตระกูลนี้ ได้แก่ ทับทิม(Ruby) ไพลิน(Blue Sapphire) บุษราคัม(Yellow Sapphire) และพลอยสตาร์สาแหรกอื่น ๆ เป็นต้น
พลอยเขียวส่องนี้มีการขุดพบมานานแล้วอยู่ปะปนกับแร่รัตนชาติชนิดอื่นๆ ใต้ชั้นดิน เป็นพลอยที่ดูเหมือนมีสัดส่วนปริมาณพบมากกว่าพลอยสีอื่น พลอยสีเขียวทำให้นึกถึงป่าเขาลำเนาไพร ธรรมชาติแห่งพืชพรรณที่บริสุทธิ์ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ความสงบ ความเรียบง่ายไม่ปรุงแต่ง แม้สีของมันจะไม่ร้อนแรงโดดเด่นอย่างสีทับทิม แต่เขียวส่องก็มีความงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีโทนสีตั้งแต่เขียวอ่อนให้ความรู้สึกอ่อนหวาน ไล่ไปจนถึงเฉดเขียวเข้มที่อาจดูเคร่งขรึม แตกต่างจากEmerald (แร่ Beryle) ที่มีสีเขียวอันเกิดจากธาตุโครเมี่ยม (Cr) ที่มีสีสดจนอาจจะดูฉูดฉาด แต่ไร้ซึ่งประกาย (เนื่องจากมีค่าดัชนีหักเหแสงต่ำมาก) แต่เขียวส่องได้สีเขียวจากธาตุเหล็ก (Fe) จึงได้สีเขียวที่คลาสสิก นุ่มนวลสบายตาสงบเสงี่ยมอยู่ในที แต่ขณะเดียวกันก็แฝงด้วยความล้ำลึกน่าค้นหา หากเทียบบุคลิกพลอยเขียวส่องกับพลอย Emerald แล้ว เขียวส่องดูจะปรับเข้ากับเครื่องประดับสำหรับผู้ชายได้ง่ายกว่า Emerald เสียอีก เพราะมีเฉดสีมีให้เลือกมากมาย ตั้งแต่เขียวอมเหลือง เขียวตองอ่อน เขียวใบไม้ จนถึงเขียวเข้มจนคล้ำ เราก็สามารถเลือกสีให้เข้ากับรสนิยมและรูปแบบเครื่องประดับเฉพาะบุคคล โดยส่วนตัวแล้วผมชอบสีปานกลางที่ไม่อ่อนหรือเข้มเกินไปและเจือสีเหลืองอยู่เพียงเล็กน้อย ที่ชาวบ้านบางกะจะเรียกกันว่า “สีก้านมะลิ” แต่เฉดสีนี้เป็นเฉดสีพิเศษที่ไม่ค่อยพบบ่อยสักเท่าไหร่
นับวันพลอยเขียวส่องมีปริมาณลดลง หาได้ยากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต ปัจจุบันพลอยดิบเขียวส่องจำนวนมากมักถูกนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อปรับปรุงด้วยความร้อนให้ได้เป็นพลอยสีเหลือง นั่นทำให้พลอยดิบนับวันจะหายากขึ้น ปัจจุบันเขียวส่องคุณภาพดีสีสวยยังพอหาได้อยู่บ้างไม่เกินความสามารถ ดังนั้นจงรีบหาเก็บสะสมไว้เถอะครับก่อนที่ “พลอยเขียวบางกะจะ” “จะกลายเป็นเพียงตำนานอย่าง “ทับทิมสยาม” ในอดีต
นิยาม “พลอยเนื้อแข็ง” : ในสมัยโบราณชาวตะวันตกจะรู้จักเฉพาะพลอยในท้องถิ่นเท่านั้น เช่น พลอยสีแดงเนื้ออ่อน “สปีเนล”ชาวยุโรปก็ใช้เรียกชื่อว่า” Balas Ruby” พลอยสีเหลืองเรียก“Topaz” พลอยเเบริลสีเขียวก็เรียก” Emerald”เป็นต้น สมัยต่อมามีการติดต่อทางการค้ากับซีกโลกตะวันออกมากขึ้น ทำให้พลอยเนื้อแข็งตระกูล Corundum จากทวีปเอเชียเริ่มแพร่หลายเข้าไปในยุโรปจนที่รู้จัก ทั่วไป ชาวตะวันตกจึงบัญญัติชื่อทางการค้าสำหรับพลอยเนื้อแข็งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้มันแตกต่างไปจากพลอยท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิม โดยการใส่คำว่า ” Oriental” ลงไปไว้กำกับข้างหน้าชื่อพลอยที่มีสีเดียวกัน เป็นการบ่งบอกแหล่งที่มา และป้องกันความสับสน ยกตัวอย่างเช่น ทับทิมจากพม่าก็เรียกว่า “ Oriental Ruby” พลอยบุษราคัมจากศรีลังกาเรียกกันว่า “Oriental Topaz” พลอยเขียวส่องก็ใช้คำว่า “ Oriental Emerald” อย่างนี้เป็นต้น คือยังคงรากศัพท์พลอยท้องถิ่นดั้งเดิมเอาไว้ ดังนั้นหากมีคำนำหน้าว่า Oriental เมื่อไร ก็หมายถึงพลอยตระกูล Corundum ซึ่งเป็นพลอยเนื้อแข็งจากทวีปเอเชียนั่นเอง
ความเชื่อในพลังงานของพลอยเขียวส่อง
พลอยเขียวส่องหรือมรกตจันท์ อัญมณีนำพาโชคลาภ ความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งร่ำรวยมาสู่ชีวิตของผู้เป็นเจ้าของ ช่วยส่งเสริมสติปัญญา ความซื่อสัตย์ ให้เกียรติในความจงรักภักดีและความไว้วางใจ จะช่วยกระตุ้นจักระหัวใจ กระตุ้นความเห็นอกเห็นใจของผู้อื่นเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจในความอ่อนแอ และ ช่วยเพิ่มความอดทนและเคารพต่อความคิดเห็นของผู้อื่น พลอยเขียวส่องมีสีเขียวที่ผ่อนคลายต่อดวงตา และเป็นที่รู้จักกันในนาม “หินแห่งความสันติสุข”
………………………………